วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

องค์ประกอบสำคัญของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

 องค์ประกอบสำคัญของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 
      1. เนื้อหาสาระ (content)
      2. การออกแบบระบบการเรียนการสอน (instructional design)
      3. การให้ผลป้อนกลับ (feedback)
      4. การออกแบบหน้าจอ (screen design)
 
     เนื้อหาบทเรียนที่ดีจะต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชา เป็นปัจจุบันไม่ล้าสมัย โครงสร้างเนื้อหาชัดเจน มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง นั่นคือควรจะต้องมีการออกแบบบทเรียนที่ดี นำทางผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจ และจำเนื้อหาได้ มีการจัดระบบเนื้อหาสัมพันธ์กับความรู้เดิมหรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียน หรือปูพื้นความรู้เดิมเพื่อเชื่อมโยงไปสู่ความรู้ใหม่ มีลำดับขั้นตอนของการนำเสนอความยากง่าย มีการนำเสนอวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนรู้ล่วงหน้าถึงประเด็นสำคัญของ เนื้อหา เค้าโครงเนื้อหาอย่างกว้างๆ ผู้เรียนจะสามารถผสมรายละเอียดส่วนย่อยให้สัมพันธ์กับเนื้อหาส่วนใหญ่ทำให้ ผลการเรียนรู้มีประสิทธิภาพขึ้น ที่สำคัญเนื้อหาควรจะนำเสนอได้ตรงและครอบคลุมตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ เหมาะสมกับระดับความยากง่ายของผู้เรียนและมีการใช้ภาษาที่ถูกต้องทั้งตัว สะกด ไวยากรณ์ข้อความและการออกเสียง

     ตามหลักจิตวิทยา การดึงดูดความสนใจถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะนำพาให้ผู้เรียนไปสู่พฤติกรรม เป้าหมาย ซึ่งระบบการเรียนการสอนที่ดีควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบคือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ลอกเลียนแบบใครและปฏิบัติได้จริงไม่ใช่สิ่ง เพ้อฝัน มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนอย่างเหมาะสม สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งผู้เรียนอ่อน ปานกลาง และเก่ง ให้โอกาสผู้เรียนควบคุมลำดับการเรียนรู้อย่างเหมาะสม มีแบบฝึกปฏิบัติหรือแบบฝึกหัดและการประเมินผลที่ครอบคลุมจุดประสงค์ เพราะการวัดและการประเมินผลจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่ ควรจะขาดหายไป การวัดและการประเมินผลก่อนเริ่มต้นเรียนเป็นการกระทำเพื่อจัดวางตำแหน่งของ ผู้เรียนเพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานจำเป็นเพียงพอต่อการเรียน หรือไม่

     สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะต้องมีการยืดหยุ่นมากพอที่ผู้เรียนจะมีอิสระในการ ควบคุมการเรียนของตนได้ ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ เช่น การควบคุมเนื้อหา การควบคุมลำดับของการเรียน และการควบคุมการฝึกปฏิบัติหรือการทดสอบ หรือการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ซึ่งก็คือผู้สอนในขณะนั้น การโต้ตอบที่ดีจะต้องมีการวิเคราะห์ออกแบบให้เหมาะสม สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับบทเรียนและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมี ประสิทธิภาพ ซึ่งตามแนวคิดของสกินเนอร์ (Skinner) การให้ผลป้อนกลับจะเป็นการเสริมแรง(reinforcement) อย่างหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนได้เป็นอย่างดี ลักษณะของการให้ผลป้อนกลับโดยทันทีที่จะช่วยแยกให้เห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับสื่อการนำเสนออื่น คือ การให้ผลป้อนกลับในลักษณะของการประเมินความเจ้าใจของผู้เรียน

     สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ดีก็คือรูปลักษณ์ที่เราเห็นที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ก็ไม่ใช่เพียงการมองผ่านแค่บางหน้าจอ หากต้องเป็นการมองเพื่อพิจารณาต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง ในสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ดีควรจะมีการจัดวางองค์ประกอบที่หน้าจอได้อย่าง เหมาะสม สวยงาม ง่ายต่อการใช้รูปแบบตัวอักษรมีขนาด สี ชัดเจน อ่านง่าย เหมาะสมกับวัยผู้เรียน ใช้สีได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน สื่อความหมายสอดคล้องกับแนวของเนื้อหา การใช้ปุ่มข้อความ หรือแถบข้อความ หรือรูปภาพ ชัดเจนเหมาะสมและถูกต้อง เพราะปุ่มจะเป็นสิ่งกำหนดการเดินทาง เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าไปยังบทเรียนได้ตามความประสงค์การใช้กราฟิกเป็น ปุ่มกำหนดทิศทางทำให้ดูน่าสนใจ แต่ข้อเสียคือหากใช้ขนาดไม่เหมาะสมอาจใช้เวลาในการถ่ายโอนข้อมูลนาน ดูเกะกะ และถ้าใช้เอฟเฟ็กต์ในการแสดงปุ่มมากไป ผู้ใช้ก็จะไม่เข้าใจ จึงควรมีความสม่ำเสมอในการใช้ปุ่ม สัญลักษณ์ต่างๆ เป็นสากลเช่น การกำหนดทิศทางใช้ลูกศร ผู้ใช้จะเข้าใจง่ายสะดวกขึ้น


ที่มาข้อมูล : สมควร เพียรพิทักษ์ วารสารวิชาการ ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2548
ที่มาเว็บ : https://www.myfirstbrain.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น